วิธีเลือกอาหารเม็ดกระต่าย เลือกแบบไหนดี มีกี่แบบ ยี่ห้อไหนดี!
อาหารเม็ดกระต่าย ควรเป็นอย่างไร อย่าถูกใครเขาหลอก!
ที่ต้องขึ้นหัวข้อแบบนี้เพราะการตลาดในปัจจุบันใช้หลักการแทรกแซงและบิดเบือนความเป็นจริงตามหลักวิชาการ และขัดกับผลการตรวจสุขภาพในทางคลินิก แม้กระทั่งหลอกให้เข้าใจว่าอาหารชนิดนั้น ๆ เหมาะสมทั้งที่อาจเป็นอันตราย และเมื่อต้องทำการตลาดจึงแทรกแซงในกลุ่มผู้เลี้ยง และให้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและทำให้เข้าใจผิด ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจเพราะขาดความรู้จริงและอยากแสดงความคิดเห็น
เนื่องจากอาหารกระต่ายมีวิวัฒนาการมาไกลมากแล้ว จึงไม่ควรย้อนกลับไปให้ใครเขาหลอกได้ และบางคนถึงขนาดบอกว่าอาหารนี้สัตวแพทย์แนะนำก็จริง แต่ก็ไม่น่าเชื่อ เพราะอาหารกระต่ายต้อง.... ไร้แป้ง (จริงหรือ? ถูกใครเขาหลอกมาหรือไม่?) ต้องกินยี่ห้อนี้ถึงจะดี ดีจริงหรือ?
หรือบ้างบอกว่าสัตวแพทย์นั้นไม่รู้อะไร และอ้างสรรพคุณว่าอาหารแบบนี้ถึงจะช่วยขัดฟัน ทั้งที่การขัดฟันขึ้นกับลักษณะของเม็ดและสัดส่วนของวัตถุดิบประกอบกัน เพราะการตลาดแบบนี้ อาหารที่ใช้คำว่าสัตวแพทย์แนะนำนั้นยังสู้คนขายเล่าไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอาหารที่ผ่านการวิจัยมาแล้วก็ยังไม่สู้ที่ผลิตออกมาง่าย ๆ ไม่ได้
หากสัตวแพทย์แนะนำแล้วยังใช้ไม่ได้ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะดูแลสุขภาพกันให้ทั่วถึง และมีผลกระทบด้านสุขภาพ ทั้งที่เราข้ามเส้นเรื่องอาหารกระต่ายกันมามากกว่า 15 ปี จึงอยากเขียนบทความนี้เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับผู้เลี้ยงที่กำลังจะเลือกใช้อาหารเม็ด
อาหารกระต่ายที่มีลักษณะเม็ดในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ตามองค์ประกอบของสูตร
1. อาหารเม็ดกระต่ายที่ทำมาจากธรรมชาติ
ประเภทแรก คือ อาหารเม็ดที่ทำมาจากธรรมชาติ ไร้การปรุงแต่ง ไร้การเพิ่มเติมอาหารชนิดอื่น จึงไร้แป้งจากกลุ่มธัญพืช ซึ่งจะแบ่งเป็น อาหารเม็ดที่ทำมาจากการนำหญ้ามาอัดเป็นเม็ด หรือแท่ง นั่นก็คือ หญ้านั่นเอง ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากหญ้า จะเรียกว่าอาหารก็ได้ เพราะเป็นการกินหญ้าแต่ไม่ได้รับอะไรเสริม ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และพลังงาน อาหารเหล่านี้จึงแทบไม่มีสูตรอะไร
ดังนั้นจะมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ชอบอ้างว่า “ไร้แป้ง” “ไร้คาร์โบไฮเดรต” จึงเป็นคำลวง หากด้านหลังพิมพ์การันตีว่าโปรตีนไม่น้อยกว่า 12% ไขมันไม่น้อยกว่า 2% (แต่บางยี่ห้อเขียนไปถึง 15% และ 3% ตามลำดับ) จากการันตีนี้ ถ้าคนที่เขาเข้าใจเรื่องหญ้าก็จะเดาได้ว่ามีหญ้าชนิดใดบ้างที่ให้โปรตีนและไขมันสูงขนาดนั้น
คำตอบคือ...ไม่มี! ทิโมธีแบบซูเปอร์พรีเมี่ยมอาจจะให้โปรตีนระดับนี้ได้ แต่เมื่อมาทำเป็นอาหารอัดเม็ด ระดับโปรตีนก็ลดลง และส่วนใหญ่หญ้าที่ดีจะมีค่าเฉลี่ยโปรตีนสูงไม่ถึง 12% ดังนั้น อาหารที่กล่าวว่ามาจากธรรมชาติ มาจากธรรมชาติจริงหรือไม่ หรือเป็นการบิดเบือนไม่ชี้แจงข้อมูลในการโฆษณาให้ครบถ้วน
อาหารเม็ดที่ทำมาจากธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง นอกจากทำมาจากหญ้า ยังพบมีการผสมกลุ่มเมล็ดธัญพืชและผลไม้เข้าไป เรียกอาหารกลุ่มนี้ว่า “มูสลี” (Muesli) และเป็นอาหารต้องห้ามใช้ในกระต่ายในยุโรปและอเมริกาในทางสัตวแพทย์ แต่พบมีขายในไทย เพราะแบบนี้ไม่เรียกว่า “ไร้แป้ง” แต่เรียกว่ามีแป้งมากเกินไป จากธัญพืชและผลไม้ และส่งผลทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร (Harcourt-Brown, 2002; Lennox, 2008a; Meredith, 2008)
อาหารเม็ดกระต่าย ต้องไร้แป้งจริงหรือ?
ถ้าเป็นอาหารไร้แป้งก็คงเป็นอาหารเม็ดที่ทำมาจากหญ้าหรืออัลฟัลฟ่าเท่านั้น อาหารเม็ดที่เหลือจึงยังคงมีแป้ง จะไม่มีอาหารเม็ดชนิดใดที่ไร้แป้งจริง จึงมักเป็นคำลวง แม้กระทั้งหญ้าอัดเม็ดเองยังได้แป้งมาจากหญ้า และอาหารเม็ดที่อ้างว่าไม่ใช้ธัญพืชจะเอาแป้งมาจากที่ใดได้? อย่าให้ใครหลอกได้อีก
และแป้งเองก็ยังมีประโยชน์เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน อยู่ในกระบวนการหมักที่กระพาะหมักโดยอาศัยแบคทีเรียแลคติก (lactic bacteria) และยีสต์บางชนิด หากอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายและสุขภาพดีกว่าไม่ได้ใช้เสริม ซึ่งจะกล่าวต่อไปเรื่องสัดส่วนที่เหมาะสม หรือไปอ่านเพิ่มเติมในเรื่อง “cool energy”
อาหารประเภทแรกนี้ ยังเพิ่มการปรุงแต่งได้อีก เป็น อาหารเม็ดที่ทำมาจากธรรมชาติเสริมวิตามินและแร่ธาตุ และมีหลายยี่ห้อที่ทำการเสริมยีสต์หรือโปรไบโอติกส์ เหมาะสำหรับกระต่ายและสัตว์กินพืชที่ไม่ชอบกินหญ้า ดีกว่าพวกหญ้าอัดเม็ดเฉย ๆ ที่ไร้การปรุงแต่ง หากกระต่ายนั้นกินหญ้าเก่งอยู่แล้วยิ่งไม่จำเป็นต้องใช้ประเภทไร้การปรุงแต่ง เว้นแต่อยากเปลี่ยนรสชาติและกลิ่น
2. อาหารเม็ดกระต่าย ที่มีสูตร
ประเภทที่สอง คืออาหารที่มีสูตร ประกอบไปด้วยอาหารที่ไม่ได้มีสัดส่วนที่เหมาะสมในการส่งเสริมสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพ และจะลึกลงไปยังมีกลุ่มอาหารที่ทำลายสุขภาพ เพราะค่อนข้างละเอียด แต่จะอธิบายให้เขาใจโดยสังเขป
ประเภทที่สอง คือ อาหารเม็ดที่เป็นนวัตกรรมจากการสร้างสูตรอาหาร นั่นคือเกิดจากการคิดแล้วว่ากระต่ายควรได้รับอะไรบ้าง หลังบรรจุภัณฑ์จึงมีการกำกับว่าโปรตีน ไขมัน เยื่อใยอาหาร ที่จริงอาจจะระบุมากขึ้นเช่น คาร์โบไฮเดรต พลังงาน ชนิดแร่ธาตุ และวิตามิน เป็นต้น
ให้สังเกตว่า เมื่อต้องการโปรตีน ไขมัน พลังงาน และเยื่อใยอาหารขนาดนั้น จะเอามาจากส่วนไหนของธรรมชาติ? ผู้ที่กล่าวว่าไร้แป้งจึงเป็นคำลวง และผู้ที่แนะนำว่าอาหารกระต่ายควรไร้แป้งก็เข้าใจไม่จริง
เพราะความเป็นจริงพืชทุกชนิดไม่ได้ไร้แป้ง ในเรื่องของสูตรอาหารจึงมีข้อกำหนดว่าต้องการพลังงานนั้นแค่ไหน หลักการมาจากธรรมชาติของกระต่าย หรือเพื่อบำรุงสุขภาพ บำรุงขน ผิวหนัง หรือระยะฟื้นตัวจากความเจ็บป่วย และแหล่งพลังงานควรมาจากไหน อาหารเห่านี้มีวิวัฒนาการและบทเรียนสุขภาพในทางคลินิกมาแล้วทั้งนั้น
จนปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเยื่อใยอาหารต้องมาเป็นหลักก่อน เพราะเป็นตัวตั้งต้นของอาหารกระต่ายที่เหมาะสม โดยแบ่งเยื่อใยอาหารเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ย่อยได้ เช่น เพกติน เฮมิเซลลูโลส รวมทั้งแป้งที่พบในพืช เพราะส่วนใหญ่อยู่ใน เซลล์พืช
ในส่วนนี้ยังมีกรดอะมิโน แป้ง น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน หากมีส่วนนี้น้อย สัตว์ก็จะได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ผอมและสุขภาพไม่สมบูรณ์ และเยื่อใยอาหารที่ย่อยไม่ได้ เช่น ลิกนิน และเซลลูโลส จะช่วยให้การขับถ่ายเป็นปรกติจึงช่วยป้องกันภาวะท้องอืด และช่วยให้เม็ดมูลออกมาสมบูรณ์ ซึ่งผู้เลี้ยงที่เข้าใจเข้าจะดูข้างถุงและดูจากการขับถ่ายเป็นหลัก ไม่ได้ฟังคำลวงทางการตลาด
เยื่อใยหยาบ (crude fibers) ต่ำมาก (<10%) ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะกรดมากในทางเดินอาหาร (Cheeke, 1987) และทำให้สัดส่วนของกรดไขมันเปลี่ยนแปลงไป เกิดการผลิตสัดส่วนของกรดบิวทีริก (butyric acid) มากกว่าปรกติ ซึ่งกรดชนิดนี้จะมีผลไปยับยั้งการบีบตัวแบบ peristalsis ของทางเดินอาหารส่วนท้าย (Carabano and Piquer, 1988; Varga, 2014) จึงเกิดการผลิตมูกที่มีไบคาร์บอเนตเพื่อมาช่วยปรับสมดุลภาวะกรดที่มากเกินไปให้เหมาะสม (neutralize acid) และป้องกันการถูกทำลายของเยื่อบุทางเดินอาหาร
การขับถ่ายจากภาวะนี้จึงสามารถเห็นในรูปวุ้นและปนมูกขึ้นกับความรุนแรงของภาวะกรดในทางเดินอาหาร และพบฮีสตามีนในเลือดสูง (histaminosis: H2) ขึ้นได้ หากระดับของเยื่อใยอาหารต่ำกว่าร้อยละ 10 (Harkness and Wagner, 1995) หรือร้อยละ 15 (Brooks, 1997) จะทำให้เกิดการเบื่ออาหารและท้องเสีย และหากสูงกว่าร้อยละ 17 จะทำให้เกิดอาการผอมแห้ง จึงมีความเชื่อว่าระดับของเยื่อใยอาหารที่เหมาะสมคือร้อยละ 15-17 (Harkness & Wagner, 1995)
ผู้ผลิตอาหารจึงผลิตอาหารที่มีระดับของเยื่อใยอาหารที่ร้อยละ 16 เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจากยุโรป บางตำรากล่าวว่าเยื่อใยอาหารที่เหมาะสมคือร้อยละ 18 (Brooks, 1997) แต่ยังพบว่าก่อให้เกิดปัญหากลุ่มอาการของโรคทางเดินอาหาร ในอเมริกาเขาจึงพัฒนาไปไกลกว่าในช่วงแรก ปัจจุบันจึงพบว่าระดับของเยื่อใยอาหารที่ได้รับการยอมรับและถือว่ามีความเหมาะสมมากขึ้น ไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 20-25 (Irlbeck, 2001; Weerakhun, 2011)
พวกเราจึงเห็นอาหารที่สัตวแพทย์แนะนำส่วนใหญ่มีเยื่อใยอาหารสูงระดับนี้ และอาหารที่พัฒนาสูตรในปัจจุบันก็จะทำสูตรเยื่อใยอาหารมาเป็นแบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ข้อมูลทั้งหมดเพียงเท่านี้ก็คงไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรม De Blas and Mateos (2010)
แนะนำว่า อาหารกระต่ายควรมีระดับเยื่อใยอาหารสูง และมีระดับของเยื่อใยชนิดไม่ละลายร้อยละ 65-90 ในเยื่อใยอาหารทั้งหมด และแยกเป็น NDF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ ADF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 16 และใกล้เคียงกับ Trocino et al. (2012) อย่างไรก็ตามในระดับนี้ก็ยังไม่สูงพอที่จะป้องกันโรคไวรัสทีมีผลต่อสุขภาพทางเดินอาหาร
จึงมีการศึกษาเพิ่มเติมจากทีมพัฒนาอาหารกระต่าย พบว่ากระต่ายที่ได้รับอาหารที่มีระดับ ADF 30 จะมีระดับฮีสตามีนต่ำเมื่อเทียบกับก่อนการให้อาหาร อาหารที่มีระดับของ ADF ต่ำจึงยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่จะมีอาหารกระต่ายกี่ชนิดในปัจจุบันที่ทำแบบนี้ ผู้เลี้ยงก็ต้องพิจารณาเลือกให้ดีเลือกให้เป็น
นอกจากนี้ส่วนเยื่อใยชนิดย่อยไม่ได้ที่มาจากเปลือกไม้ ยังมีซิลิเคตที่ช่วยในการขัดฟัน หากอาหารมีผลึกชนิดนี้และเปลือกไม้ไม่เพียงพอจะช่วยขัดฟันไม่ได้ แต่ก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ลักษณะของเม็ดอาหารก็มีความสำคัญมากว่าจะช่วยในการขัดฟันด้วยวิธีใด เพราะอาหารที่บดจนละเอียดและไม่เหลือลักษณะเส้นใยหยาบเลยก็ช่วยการสึกของฟันให้ดีไม่ได้
ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ที่เข้าใจ จึงดูจากลักษณะของเม็ดอาหารว่าหยาบหรือไม่ และกระต่ายใช้เวลาเคี้ยวนานแค่ไหน และเมื่อไปตรวจ ช่วยทำให้ฟันสึกได้ต่างจากอาหารเม็ดชนิดอื่นหรือไม่ ในงานวิจัยเขาจะใช้การกินอาหารเม็ดอย่างเดียวในการทดสอบเพื่อไม่ให้การกินหญ้าเข้ามารบกวนการแปรผล และอาหารที่จะช่วยขัดฟันได้ดีต้องป้องกันภาวะลำไส้อืดได้ก่อน จึงจะนำมาใช้ช่วยในการรักษาเรื่องฟัน
ดังนั้นเบื้องต้นจึงต้องดูสัดส่วนของเยื่อใยอาหารก่อนว่าเป็นเท่าไร หรือดูว่าในสัดส่วนวัตถุดิบใช้หญ้าเป็นองค์ประกอบหลัก หรือมีการเพิ่มเยื่อใยชนิดย่อยไม่ได้โดยตรงหรือไม่ ซึ่งอาหารนวัตกรรมใหม่ที่สัตวแพทย์แนะนำมักจะต้องมีองค์ประกอบละเอียดเช่นนี้ และมาพิจารณาแหล่งพลังงานว่ามาจากแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ไขมัน หรือโปรตีนจากที่ไหนได้บ้าง เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโพด เวย์โปรตีน น้ำมันพืช ?
นักโภชนาการและสัตวแพทย์เขาศึกษากันมานานแล้วว่าอาหารที่มาจากแหล่งเหล่านั้นอะไรที่มันแย่และอะไรที่มันออกมาดีมาก ๆ เพราะยังต้องคำนึงถึงสัดส่วนว่าควรเป็นสัดส่วนเท่าใด และเมื่อประกอบสูตรแล้ว กระต่ายจะจำกัดการกินหรือไม่ ควรกินจำนวนเท่าไรต่อวัน อาหารที่ทำสำหรับเสริม เช่น พลังงานมาก หรือฟื้นฟูสุขภาพในตัวที่ผอม ก็กินได้น้อย
ส่วนอาหารที่อาจเสี่ยงต่อสุขภาพเพราะแหล่งวัตถุดิบไม่เหมาะสม เช่น มาจากเนื้อสัตว์ เพราะทำให้ฟอสฟอรัสสูงและป่วยเป็นโรคเมตาบอลิกกระดูกตั้งแต่อายุยังน้อย ขนมที่มีแป้งมาก็ควรงดเพราะสร้างกรดแลคติกจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารมาก หรือควรเสริมยีสต์แซคคาโรไมเสสทดแทนเพื่อป้องกันกรดและภาวะลำไส้อืด อาหารเม็ดที่ดีก็กินแทนหญ้าได้เลย
นั่นหมายถึงเขาทำสัดส่วนแป้ง โปรตีน และไขมันได้เหมาะสมกับการเป็นพลังงาน และมีเยื่อใยอาหารชนิดย่อยได้และย่อยไม่ได้เหมาะสมตามที่แนะนำข้างต้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกระต่ายควรได้รับตามธรรมชาติ นอกจากอาหารแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับปิรามิดอาหาร อาหารเม็ดส่วนใหญ่จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้น้อยเพราะกระต่ายต้องกินหญ้าเป็นหลัก
อาหารในกลุ่มนี้จึงมีทั้งดีและไม่ดี จากสูตรอาหารนั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่คงไม่ใช่ “ไร้แป้ง” เพราะคงไร้ประโยชน์ที่ไม่เข้าใจอะไรกันเลย ตามคำกล่าวอ้างนั้นเพราะไม่เป็นจริง และควรหลีกเลี่ยงอหารที่ผสมพวกเมล็ดธัญพืชหรือผลไม้เข้าไปในสัดส่วนที่มากเพราะเป็นแหล่งของแป้งมากและทำให้เลือกกิน เพราะนั่นคือความเสี่ยง เว้นแต่จะกินในปริมาณเพียงเล็กน้อยดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ยิ่งไม่ดีก็กินได้น้อย ต้องกินหญ้าช่วยมาก ๆ อาหารเม็ดยิ่งดีก็กินได้มาก
ในปัจจุบันอาหารกระต่ายก้าวหน้าไปไกลแล้ว จึงถึงจุดการเสริมด้วยสารสกัดและสารบำรุงสุขภาพมากมาย มีการใช้โพรไบโอติกส์ และการป้องกันการเกิดโรคเฉพาะทางไปแล้ว ควรถามสัตวแพทย์เฉพาะทางที่เข้าใจด้านโภชนาการกระต่ายและผู้เลี้ยงที่เขาเลี้ยงกระต่ายจนอายุยืน และแม้ว่าปิรามิดอาหารจะใช้หญ้าเป็นหลักแต่ก็มีอาหารเม็ดที่สัตวแพทย์แนะนำจำนวนไม่น้อยที่สามารถกินทดแทนได้มากยิ่งขึ้นจนบางชนิดแทบจะใช้กินแทนหญ้าได้แล้ว อาหารเหล่านี้จึงเรียกว่าเป็นนวัตกรรมของปัจจุบันได้จริง