ปลารากกล้วย 'คุณรุ่งทิพย์' ลักษณะ วิธีเลี้ยง กินอะไร เพาะพันธุ์!
ปลารากกล้วย 'คุณรุ่งทิพย์' (Piebald Horseface Loach)
ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Acantopsis rungthipae Boyd, Nithirogpakdee & Page 2017 เป็นสัตว์น้ำในกลุ่มปลา ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุล Acantopsis ซึ่งถูกจัดอยู่ในวงศ์ Cobitidae
ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Piebald Horseface Loach และยังมีชื่ออื่น คือ ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์, ปลาซ่อนทราย
ถิ่นอาศัย
ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำ ลำธารที่มีพื้นท้องน้ำที่เป็นทราย และมีกระแสน้ำไหลถ่ายเทปานกลาง พบกระจายอยู่ในแหล่งน้ำทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
อาหารปลารากกล้วย กินอะไร
Photo by : Arunee Rodloy.
ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) กินแพลงก์ตอน ไรน้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ เป็นอาหาร
ลักษณะ ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์)
ลักษณะเด่น
"ปลารากกล้วย" (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวยาวเรียว ปากและจมูกยื่นออกไปคล้ายหน้าม้า จึงมีชื่อสามัญว่า "Horseface loach"
มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงในพื้นท้องน้ำที่เป็นทรายที่มีน้ำไหล และด้วยอุปนิสัยชอบซ่อนตัวอยู่ใต้ทราย เวลาตกใจหรือหนีจากศัตรู จะมุดลงใต้พื้นทรายอย่างรวดเร็วเพื่อซ่อนตัว จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ปลาซ่อนทราย"
ลักษณะทั่วไป
ปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) มีลักษณะลำตัวยาวเรียวแบนข้างเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาว ตามแนวสันหลังมีแถบสั้น ๆ สีน้ำตาลดำพาดขวางลำตัว ตามแนวเส้นข้างตัวมีแถบสีน้ำตาลขนาดเล็กพาดไปตามความยาวลำตัวข้างละ 1 แถบ มีจุดสีน้ำตาลเรียงไปตามความยาวของแนวเส้นข้างตัว
หัวมีขนาดใหญ่เรียวแหลมและแบนข้าง ตามีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางด้านบนของส่วนหัว บริเวณหน้าตามีหนามแหลมเล็ก ๆ ปลายแยกเป็นสองแฉกซ่อนอยู่ในร่องใต้ผิวหนัง จะงอยปากค่อนข้างยาวแหลมและงุ้มต่ำ มีหนวดสั้น ๆ 3 คู่
ครีบหลังและครีบหางมีสีน้ำตาลอ่อน ครีบอื่น ๆ ใสไม่มีสี ครีบต่าง ๆ ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบก้นมีขนาดเล็ก ครีบหางเว้าไม่ลึก ขนาดใหญ่สุดความยาวประมาณ 25 ซม.
วิธีเลี้ยงปลารากกล้วย ในตู้ปลา
การเลี้ยงปลารากกล้วย (ปลารากกล้วยคุณรุ่งทิพย์) สามารถเลี้ยงในตู้ขนาดเล็กร่วมกับปลาชนิดอื่นที่ไม่ก้าวร้าว อุปนิสัยชอบนอนนิ่ง ๆ บนพื้นทราย
สถานภาพ
ปลารากกล้วยถูกจับจากแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเพื่อจำหน่ายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมคือเมนู "ปลารากกล้วยทอด" เมื่อทอดกรอบสามารถรับประทานได้ทั้งตัว ทำให้ให้ปลาในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็วอยู่ในสถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปางสามารถเพาะพันธุ์ ปลารากกล้วยสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามส่งจำหน่ายต่างประเทศได้ กรมประมงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป
การเพาะพันธุ์ปลารากกล้วย
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ตรวจสอบความสมบูรณ์ของเพศโดยคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีไข่แก่สมบูรณ์ ท้องอูมเป่งนิ่ม ผนังท้องบาง และช่องเพศขยาย มีสีแดงเรื่อ ๆ พ่อพันธุ์ลักษณะลำตัวเรียวยาว พื้นท้องแข็งกว่าเพศเมีย
การเพาะพันธุ์
ทำการฉีดกระตุ้นพ่อแม่พันธุ์ด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ Domperidone ความเข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อพ่อแม่พันธุ์ 1 กิโลกรัม เข้ากล้ามเนื้อบริเวณโคนครีบหลัง
ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตราส่วน 1:1 จำนวน 10 คู่ ในบ่อคอนกรีตกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ระดับน้ำลึก 30 เซนติเมตร ที่มีการให้อากาศผ่านหัวทราย ไข่ปลารากล้วยเป็นไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอย ลักษณะกลม สีเหลืองใส ไข่ฟักออกเป็นตัวใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง
การอนุบาล
เมื่อลูกปลาอายุครบ 3 วัน ลูกปลาเริ่มกินอาหาร โดยให้ไรแดงเป็นอาหาร และปลามีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยเมื่ออายุได้ 50 วัน