ผลงานวิจัยอาหารปลาคาร์ฟ ที่มีส่วนผสม สาหร่ายสไปรูลินา ดีจริงไหม?!
ผลงานวิจัยอาหารปลาคาร์ฟ โดยใช้อาหารปลาคาร์ฟที่มีส่วนผสมสาหร่ายสไปรูลินา ทั้งรูปแบบผงและสด ในอาหารสำเร็จรูปปลาคาร์ฟ
อาหารปลาคาร์ฟ ผสมสาหร่ายสไปรูลินา
ปลาแฟนซีคาร์ฟ (Fancy carp) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cyprinus Carpio Line การเพาะขยายพันธุ์ปลาคาร์ฟให้มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน และปัจจัยที่มีอิทธิพล
เช่น อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟส่วนใหญ่ วัตถุดิบจะประกอบไปด้วย ปลาป่น รํา ปลายข้าว กากถั่วเหลือง เป็นต้น
แต่เนื่องจากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะขยายพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์ฟ จึงต้องมีการนําสาหร่ายสไปรูลินา มาเป็นส่วนผสมในอาหาร
image :
pxhere.com
เพราะสไปรูลินามีสารอาหารช่วยสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ และกรดไขมันที่จําเป็นต่อสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ให้กับสัตว์นํ้า (Promkunthong and Pipattanwattankhul,2005) ตลอดจนสไปรูลินามีธาตุอาหารวิตามินที่มีผลต่อการเจริญเติบโต และการเจริญพันธุ์ของสัตว์นํ้า(Vonshak, 1997) สไปรูลินาเพาะเลี้ยงได้ง่าย และมีปริมาณเพียงพอ
ปัจจุบัน สาหร่ายสไปรูลินาได้รับความสนใจมากในแง่ของการใช้ประโยชน์เป็นอาหารเสริม หรือผสมในอาหารสําเร็จรูป เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า เช่น ปลานิลแดง ปลาแฟนซีคาร์ฟ ปลากะพงขาว กุ้งกุลาดํา และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น
เนื่องจากมีความโดดเด่นในเรื่องของโปรตีนที่มีอยู่ปริมาณสูงถึง 50–70% ของนํ้าหนักแห้ง และสารที่มีอยู่มากมายในสไปรูลินา ได้แก่ Phycocyanin, Allophycocyanin, Beta-carotene, Chlorophyll-a และกรดไขมันจําเป็นไม่อิ่มตัว (Promya and Saetun, 2005)
และจากบทบาทข้างต้น จึงมีการนําสไปรูลินามาใช้ทดแทนปลาป่นมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากราคาปลาป่นมีแนวโน้มสูงขึ้นและยังมีปริมาณลดลง เนื่องจากมีการนํามาใช้ในปริมาณที่มากเกิน และสไปรูลินายังมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตของสัตว์นํ้าที่สูงขึ้นด้วย
การใช้สไปรูลินาสด อนุบาลและเลี้ยงปลานิลแดงจนถึงระยะวางไข่ พบว่าปลานิลมีอัตราการผสมพันธุ์อัตราการฟักออกเป็นตัวและอัตราการรอดของลูกปลาสูงกว่าการใช้อาหารปลาทั่วไป
และสไปรูลินาสดทําให้เนื้อปลามีกรดไขมัน linoleic acid, gamma-linolenic acid สูงกว่าเนื้อปลาที่เลี้ยงในอาหารทั่วไป และเราสามารถเลี้ยงสไปรูลินาซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติเพื่อผลิตอาหารปลา และสามารถลดต้นทุนการผลิตด้านอาหาร(Lu et al., 2004 )
ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการศึกษา การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะขยายพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์ฟ โดยใช้อาหารผสมสาหร่ายสไปรูลินาสดและผง เพื่อการพัฒนาการเพาะขยายพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์ฟ และสัตว์นํ้าชนิดอื่นๆ ต่อไป
จากผลการศึกษาการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟ โดยใช้สาหร่ายสไปรูลินาทั้งรูปแบบสดและผงในครั้งนี้ พบว่า ปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยสไปรูลินาสดและผง ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโต นํ้าหนักที่เพิ่มขึ้น
อัตราการเจริญเติบโตจําเพาะ ประสิทธิภาพการใช้โปรตีน สารสีแคโรทีนอยด์ ดัชนีการเจริญพันธุ์ และภูมิคุ้มกัน ดีกว่าการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟที่ได้รับอาหารเม็ดทั่วไป (สูตรควบคุม) ซึ่งมีปลาป่นเป็นแหล่งโปรตีน (positive control)
ส่วนต้นทุนการผลิตปลาแฟนซีคาร์ฟ พบว่าอาหารทั่วไปผสมสไปรูลินาสดและผง มีต้นทุนที่สูงกว่าสูตรอาหาร ทั่วไปไม่ผสมสาหร่ายสไปรูลินา ซึ่งอัตราการเจริญเติบโต และนํ้าหนักที่เพิ่มขึ้น คล้ายการทดลองใช้สาหร่าย สไปรูลินาสด 100% อนุบาล และเลี้ยงปลานิลทําให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโต นํ้าหนักที่เพิ่มขึ้น สูงกว่าสูตรอาหารควบคุม (Luet al., 2004)
และ Vonshak (1997) and Yamaguchi (1980) กล่าวว่าในสาหร่ายสไปรูลินามีวิตามิน แร่ธาตุ และกรดไขมัน ซึ่งเป็นต้นกําเนิดของ Gamma Linolenic Acid (GLA) ที่เป็นอนุพันธุ์ของกรดไขมันที่มีหน้าที่ในการควบคุมระบบสืบพันธุ์ และ Sermwattanakul and Bamrungtham (2000)กล่าวว่าการเสริมสาหร่ายสไปรูลินาในสูตรอาหารในการเลี้ยงปลานํ้าจืดจะมีผลต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ และการเจริญพันธุ์
การทดลอง Promkunthong and Pipattanwattankhul (2005)มีการทดลองใช้สาหร่ายสไปรูลิน่า 10% ผสมในอาหารปลาดุก มีผลให้ปลาดุกมีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนดีที่สุด และปลาดุกมีปริมาณของคาโรทีนอยด์ในเนื้อเพิ่มขึ้น
และมีการทดลองใช้สาหร่ายสไปรูลิน่าผง 10-15% ผสมในอาหารปลานิลแดงทดแทนปลาป่นเพื่อให้โปรตีนในอาหารปลาเท่ากับ 30% มีผลให้ปลานิลแดง มีอัตรานํ้าหนักที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเจริญเติบโตจําเพาะดีที่สุด และปลานิลแดง มีปริมาณของคาโรทีนอยด์ในเนื้อเพิ่มขึ้น (Promya et al., 2003)
คล้ายกับการนําสาหร่าย S. platensis และ Cladophora อนุบาลปลาแฟนซีคาร์ฟ พบว่าปลาแฟนซีคาร์ฟที่ให้สาหร่าย S. platensis ผงมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวัน อัตรานํ้าหนักที่เพิ่มขึ้นอัตราการรอดตาย และคาโรทีนอยด์ที่สะสมในเนื้อปลาหลังการทดลองมากกว่าอาหารผงทั่วไป และสาหร่ายCladophoraผง (Promya and Hongwittayakorn, 2003)
ซึ่ง Duncan and Klesius (1996) กล่าวว่า สาหร่ายสไปรูลินาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีศักยภาพในอาหารสัตว์ เนื่องจากมีโปรตีนสูงอีกทั้งยังประกอบด้วยวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูง
นอกจากนี้ผนังเซลล์ยังมีองค์ประกอบที่ง่ายต่อการย่อย เนื่องจากไม่มีเซลลูโลส อย่างไรก็ตามระดับการผสมสาหร่ายสไปรูลินาในอาหารปลาแต่ละชนิดมีระดับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินอาหารของปลา และการย่อยโปรตีนจากพืชของปลาแต่ละชนิดแตกต่างกัน
จากการทดลองครั้งนี้ ปลามีภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะ (lysozyme activity assay) คือ ปลาที่ได้รับอาหารทั่วไปผสมกับสาหร่ายสไปรูลินาสดและผง มีค่าสูงกว่าการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟที่ได้รับ อาหารเม็ดทั่วไป (สูตรควบคุม)
การเพิ่มขึ้นของภูมิคุ้มกันอาจมาจากสารสีจําพวก phycocyanin ในสาหร่ายสไปรูลิน่าซึ่งเป็นสารช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน (Vonshak,1997) และสไปรูลินามีสารสีที่เรียกว่า คาโรทีนอยด์ ทําให้มีผลต่อสุขภาพของปลา
โดยสามารถลดความเครียด ทําให้ปลามีสุขภาพดี สามารถทนต่อเชื้อก่อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น (Nakano et al.,2003) ด้านคุณภาพนํ้าในการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟที่ได้รับอาหารผสมสไปรูลินาสด-ผง และอาหารปลาทั่วไป (สูตรควบคุม) มีค่าต่างๆ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าซึ่งมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5-9 ค่า DO ไม่ตํ่ากว่า 5 mg/l, PO4-P อยู่ระหว่าง 0.1-0.5 mg/l และ NH3-N ไม่เกิน 0.05 mg/l (Boyd and Tucker, 1992)
การเลี้ยงปลาคาร์ฟโดยใช้สาหร่ายสไปรูลินาทั้งรูปแบบผงและสด ทําให้ปลาแฟนซีคาร์ฟมีอัตราการเจริญเติบโต นํ้าหนักที่เพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตจําเพาะ ประสิทธิภาพการใช้โปรตีน และดัชนีความสมบรูณ์เพศ รงควัตถุสารสีคาโรทีนอยด์ และปลามีภูมิคุ้มกันแบบไม่จําเพาะ (lysozyme activity assay) ดีกว่าการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟที่ได้รับอาหารปลาทั่วไปที่ไม่ผสมสาหร่ายสไปรูลินา(สูตรควบคุม)
ด้านคุณภาพนํ้าในกระชังอนุบาลและเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ฟ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า ซึ่งมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5-9 ค่า DO ไม่ตํ่ากว่า 5 mg/L ค่า PO4-P อยู่ระหว่าง 0.1-0.5 mg/L และ NH3-N ไม่เกิน 0.05 mg/l
อ้างอิงแหล่งที่มา* : วารสารวิจัยเทคโนโลยีการประมง ปีที่6 ฉบับที่1 มหาวิทยาลัยแม่โจ้