มาตรฐานสายพันธุ์ แมวมันช์กิ้น (Munchkin) แมวขาสั้น พันธุ์แท้.!
มาตรฐานสายพันธุ์แมวมันช์กิ้น ลักษณะแมวมันช์กิ้น (แมวขาสั้น) มาตรฐาน WCF มีลักษณะครบตาม 7 ข้อ การขยายพันธุ์แมวมันช์กิ้น ให้ได้มาตรฐาน ตามเงื่อนไข WCF
แมวมันช์กิ้น Munchkin
เนื่องจากปัจจุบันความนิยมแมวขาสั้นมีมากขึ้นในประเทศไทย และเรามักเรียกกันว่าแมวมันช์กิ้น แต่สมาคมจะขออธิบายว่า การจะระบุเป็นแมวสายพันธุ์แมวมันช์กิ้นได้นั้น มันมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในเงื่อนไขที่เรียกว่า มาตรฐานสายพันธุ์แมวมันช์กิ้น (Munchkin Breed Standard)
ดังนั้น แมวขาสั้นที่เราเห็นกันทั่วไป อาจไม่ใช่แมวแมวมันช์กิ้นก็ได้ หากลักษณะของเค้าไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรฐานสายพันธุ์
มาตรฐานสายพันธุ์ของแมวมันช์กิ้น อ้างอิงได้จากองค์กรแมวสากล 2 แห่ง ได้แก่ The International Cat Association (TICA) และ World Cat Federation (WCF)
ซึ่งทั้ง 2 องค์กรกำหนดเงื่อนไขอัตลักษณ์ของแมวมันช์กิ้นไว้ไม่ต่างกัน แต่เราเป็นสมาคมภายใต้ WCF ดังนั้น จึงขออ้างอิงมาตรฐานสายพันธุ์แมวมันช์กิ้น ตามระเบียบ WCF และสมาคมได้แปลเป็นภาษาไทยให้ทุกท่านได้เก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อไป
โดยหลักๆ แมวมันช์กิ้น ตามเงื่อนไขของ WCF ต้องมีลักษณะ ดังนี้
- ขาสั้น
- ลำตัวค่อนข้างยาว ห้ามป้อม ห้ามสั้น
- หัวกระโหลกมีลักษณะเป็นลิ่มสามเหลี่ยม มีความโค้งมนเล็กน้อย
- หน้าผากแบน ไม่โหนก ห้ามหัวกลม
- จมูกมีความยาวพอสมควร ไม่สั้น
- หูตั้งตรง ห้ามพับ
- ตารูปทรงคล้ายเม็ดอัลมอนด์ ออกแนวรี ปลายเฉียงขึ้น ไม่กลม
แมวขาสั้นที่มีลักษณะครบตาม 7 ข้อข้างบนเท่านั้น WCF ถึงเรียกว่า แมวมันช์กิ้น
แต่ในประเทศไทย เรามักเห็นแมวขาสั้น หัวกลมๆ ตากลมแบ๊วๆ หนักอีกหน่อยก็หูพับ หูหัก แล้วเรียกกันว่า แมวมันช์กิ้น ซึ่งหากเอามาตรฐานสายพันธุ์แมวมันช์กิ้นของ WCF มาเทียบแล้ว แมวลักษณะแบบนี้ คือแมวขาสั้นไม่มีสายพันธุ์ หรือ หากจะเรียกว่า แมวมันช์กิ้น ก็เป็นแมวมันช์กิ้นไม่ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ มันเกิดจากสังคมแมวบ้านเรานิยมแมวหน้าแบ๊วๆ หัวกลมๆ ตากลมๆ ซึ่งเห็นเป็นปรกติในแมวสก็อตติช และก็ได้เอาจินตนาการแบบนั้นมายัดเยียดให้แมวขาสั้น
ซึ่งคนขายแมว ก็บรรยายสรรพคุณกันไปว่า ชั้นเป็นนักพัฒนา ระเบียบต่างๆตามชั้นไม่ทัน ทั้งนี้ สมาคมขออธิบายว่า WCF ยึดหลักอนุรักษ์สายพันธุ์แมว การพัฒนาก็ควรอยู่ในกรอบของเงื่อนไขที่ WCF กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์
ยกตัวอย่างเรื่อง รูปทรงของตาแมวมันช์กิ้นนั้น มันต้องออกแนวรี WCF ก็บอกว่าตาวงรี TICA ก็บอกว่าตาวงรี แต่พี่ไทยจะเอาตากลม! งานประกวดก็ไม่มา ความเห็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อยากฟัง คือ จะสร้างมาตรฐานเองอย่างนั้นเหรอ? สังคมบ้านเรานิยมอยู่ตามความพอใจ หลักเกณฑ์มากมายก็ไม่ชอบ
ลองคิดดูนะ ถ้าเราใช้ทัศนคติความพอใจเป็นหลัก แล้ววันนึง คุณเห็นแมวโคราช ซึ่งปรกติมีสีเทาล้วน แต่ตัวนี้มีลายพร้อยตามลำตัว คุณยังจะเรียกสายพันธุ์นี้ว่า โคราชมั๊ย?
เช่นกัน แมวขาสั้นที่มีอัตลักษณ์ต่างจากมาตรฐานสายพันธุ์แมวมันช์กิ้น คุณยังจะเรียกว่า แมวมันช์กิ้น มั๊ย? สมาคมขอตอบว่า คุณเรียกว่า แมวขาสั้นก็พอ อย่าเรียกว่า แมวมันช์กิ้นเลยค่ะ
การขยายพันธุ์แมวมันช์กิ้นที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ลูกแมวตามมาตรฐาน WCF มีหลักช่วยจำง่ายๆ ดังนี้
- ห้ามนำเอาแมวขาสั้นทั้ง 2 ตัวมาผสมกัน ห้ามเด็ดขาด
- แมวมันช์กิ้นขาสั้น ผสมกับ แมวมันช์กิ้นขายาวได้
- แมวมันช์กิ้นขาสั้น ผสมกับ เปอร์เซีย ลูกได้สายพันธุ์ Minuet
- แมวมันช์กิ้นขาสั้น ผสมกับ สายพันธุ์อื่นๆ ต้องผ่านการรับรองจากกรรมการ WCF ก่อนออกใบเพ็ดดีกรี
เทคนิคที่แนะนำกันในต่างประเทศ เพื่อให้แมวมันช์กิ้นมีรูปตาและทรงกระโหลก ตามมาตรฐานสายพันธุ์ WCF คือ แมวมันช์กิ้นขาสั้น ผสมกับ แมวบ้านๆ หน้าแหลมๆ หรือสายพันธุ์อะไรก็ได้ที่รูปทรงหน้า ออกแหลมๆ
และหลักปฏิบัติที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ ไม่นำเอาแมวมันช์กิ้นขาสั้น ผสมกับ สายพันธุ์บริติช - สก็อตติชหูพับ – หรือสก็อตติชหูตั้ง เพราะลูกออกมาจะได้แมวขาสั้นกระโหลกกลม ตากลม หูพับ หูหัก ซึ่งผิดมาตรฐานแมวมันช์กิ้น
สรุปนะคะ “แมวมันช์กิ้น คือแมวขาสั้น แต่แมวขาสั้นทุกตัว ไม่ใช่แมวมันช์กิ้น”