โรคลมชักในสุนัข วิธีปฐมพยาบาลสุนัขป่วย ที่มีอาการชักเกร็ง ..!
โรคลมชักในสุนัข อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายรูปแบบ ดูยังไง มีอาการยังไงบ้าง วิธีปฎิบัติในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างไร? ...
ต้องขอยอมรับตรงๆ เลยว่า ครั้งแรกที่ได้เห็นสุนัขมีอาการเกร็งชัก แหง่กๆ ต่อหน้าต่อตา ทำเอาเราตกใจ ทำอะไรไม่ถูกเลยเหมือนกันนะ แว่บแรกที่คิดได้ตอนนั้น นึกว่าไปโดนใครวางยาเบื่อมารึเปล่า? หรือเป็นโรคอะไรกันแน่? พอตั้งสติได้ก็รีบนำสุนัขไปหาหมอให้เร็วที่สุด จึงทราบว่า "สุนัขเป็นโรคลมชัก"
วันนี้จึงขอนำบทความดีๆ เกี่ยวกับโรคลมชักในสุนัขมาฝากเพื่อนๆกันนะคะ ซึ่งถูกเขียนลงในคอลัมน์ พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก ตามไปอ่านกันได้เลยจ้า
โรคลมชักเกร็งในสุนัข
สวัสดีครับ หมอคิดว่าหลายท่านคงเคยพบสุนัขมีอาการลมชัก ซึ่งทำให้ผู้ที่เจอเหตุการณ์ตกอกตกใจกัน ซึ่งสาเหตุการที่เกิดภาวะนี้มี หลายสาเหตุปัจจัยมากมาย
อาการลมชัก เกิดได้หลายสาเหตุ อาทิ โรคติดเชื้อที่ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เช่น โรคไข้หัดสุนัข บาดทะยัก แม้กระทั่งโรคพิษสุนัขบ้า และยังมีภาวะต่างๆ รวมถึงโรคไม่ติดเชื้อ และปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม ภาวะน้ำตาลต่ำ ไข้น้ำนม โรคตับ โรคไต เนื้องอก ภาวะเครียด การได้รับสารพิษ อุบัติเหตุสมองบวม ไข้สูง หรือคลื่นสมองทำงานผิดปกติ และที่หาสาเหตุไม่ได้
อาการชักมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไป โดยเบื้องต้นให้ผู้เลี้ยงเข้าใจได้โดยง่าย โดยการสังเกตว่าอาการชัก อาจมีการเตือนโดยสุนัขอาจแสดงอาการมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
สุนัขบางตัวหลบซ่อนตัว หอน ร้องคราง ตัวสั่น น้ำลายไหลมาก หรือดุขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งเตือนเจ้าของ แต่ระยะช่วงก่อนนี้ สุนัขอาจแสดงอาการนานเพียงไม่กี่วินาทีแล้วชักเลย หรืออาจนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงระยะแสดงอาการชัก
ในช่วงที่น้องหมากำลังแสดงอาการชักนี้ เจ้าของต้องระมัดระวังอันตรายจากการที่ตัวหรือหัวน้องไปฟาดกับสิ่งของ โดยอาจใช้เบาะหรือผ้านุ่มๆ หนาๆ รองหัวและตัวสุนัขไว้ และเอาสิ่งกีดขวางที่เป็นอันตรายรอบๆ ตัวออกไป รวมถึงต้องระวังตัวเองด้วยเนื่องจากสุนัขไม่มีสติอาจทำร้ายเจ้าของได้
ที่กล่าวไปผู้เลี้ยงต้องคอยสังเกตอาการเพื่อเป็นข้อมูล การตรวจวินิจฉัย สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเพราะข้อมูลที่ได้จากเจ้าของสำคัญมาก
สำหรับกรณีนี้ ก่อนทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสี เรามาดูว่าเจ้าของควรทำอย่างไรหากพบสุนัขแสดงอาการชัก อันดับแรกอย่าตกใจ พยายามอย่าเอามือเข้าไปใกล้กับปากของสุนัขนอกจากมีความจำเป็นจริงๆ บางครั้งสุนัขอาจมีอาการสำลักจากลิ้นติดคอหมอแนะนำให้ดึงหนังคอแล้วยกให้ศีรษะสูงจะดีกว่า
ทั้งนี้ ในกรณีอาการชักไม่รุนแรง พยายามเรียกให้สุนัขสนใจเจ้าของ การทำแบบนี้ช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ จดบันทึกเวลาที่สุนัขเกิดอาการชัก และสิ่งที่สุนัขกำลังทำก่อนจะแสดงอาการชัก
หากสุนัขมีอาการชักเต็มรูปแบบ และรุนแรง ดึงสุนัขให้ห่างจากสิ่งที่อาจเป็นอันตราย เตรียมผ้าห่มหรือผ้าขนหนูขนาดใหญ่ รอดูอาการสุนัขประมาณหนึ่งนาที
หากสุนัขยังไม่หยุดชักให้ห่อตัวสุนัขด้วยผ้าห่ม หรือล้อมตัวของสุนัขด้วยหมอนเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขได้รับบาดเจ็บ จากนั้นเมื่อสุนัขหยุดชักให้นำผ้าห่อตัวออก จะช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขมีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป
หากอาการชักหยุดภายในสี่นาที ให้หรี่ไฟลง (หรือปิดผ้าม่าน) และทำให้ห้องเงียบที่สุด กันสัตว์เลี้ยงตัวอื่นออกจากบริเวณและพูดกับสุนัขด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่ทำให้สุนัขตกใจ
แต่หากอาการชักเป็นเวลานานเกินสี่นาที พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที ไม่ควรห่อสุนัขในผ้าห่มขณะเดินทาง เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป ในกรณีที่มีอาการชักบ่อย และได้รับการรักษาต่อ
เนื่องจากสัตวแพทย์ประจำตัว สุนัขของท่านอาจได้รับยาฉุกเฉินในรูปแบบยาสวนทวารไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน การดูแลโรคนี้อาจต้องกินยาต่อเนื่องและตรงเวลานะครับ